เวลา.. ทุกคนมีเท่าๆ กัน แต่.. คุณค่า ของเวลาในแต่ละคน กลับไม่เท่ากัน..

13 กุมภาพันธ์ 2552

อย่าไว้ใจเทคโนโลยี

ดูเหมือนเป็นเรื่องจากปกที่พูดถึงระบบรักษาความปลอดภัยในระบบไอทีแต่ผิดครับ!
ความหมายที่ผมอยากสื่อก็คืออย่าคิดว่าเทคโนโลยีพื้นๆ อย่างเว็บบล็อกและเว็บบอร์ดจะเป็นเพียงแหล่งมั่วสุมของกลุ่มคนไซเบอร์จนไม่น่าจะมีนัยสำคัญอะไรในเชิงธุรกิจ
หลายๆ ครั้งเราเห็นการกระพือข่าวเชิงลบของสินค้าและบริการต่างๆ ในเว็บบอร์ดผ่านมาและผ่านไปอย่างไม่สนใจเท่าไรนักเพราะไม่คิดว่าความรุนแรงของมันจะขยายวงกว้างไปได้ ผิดกับกรณีลูกค้า “ทุบรถ” ผ่านสื่อทีวีที่ผลตอบรับนั้น “แรง” กว่ากันเยอะ
มาดูข่าวนี้แล้วเราอาจต้องคิดกันใหม่ครับ เพราะระยะเวลาเพียงแค่ 10 วันแต่กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันในเว็บบอร์ด “เฉพาะกลุ่ม” เช่น bikeforum.net ที่มีแต่ความเห็นถึงเรื่องจักรยานซึ่งเป็นงานอดิเรก (ราคาแพง) ดูแล้วก็ไม่น่ามีพิษสงอะไรต่อธุรกิจได้มากนัก กลับสอนมวยบริษัทใหญ่จนต้องเสีย “ค่าโง่” เป็นเงินมหาศาลกว่า 400 ล้านบาท
เรื่องของเรื่องคือสมาชิกของเว็บบอร์ด bikeforum.net คนหนึ่งเกิดพบว่าจักรยานรุ่นล่าสุดของผู้ผลิตชื่อดังซึ่งมีจุดขายคือระบบล็อกที่คิดค้นขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ นั้นทำท่าว่าจะเป็นจุดขายแบบลมๆ แล้งๆ เพราะเขาลองใช้ปากกาลูกลื่นธรรมดาๆ และความรู้ทางกลไกเล็กน้อยก็จัดการกับเจ้าล็อกที่ว่านี้ได้แล้ว เว็บบอร์ดนี้จึงกลายเป็ดจุดเริ่มแรกของการเปิดเผยข้อบกพร่องดังกล่าว
สี่วันให้หลัง บริษัทผู้ผลิตจักรยานยังคงยืนยันประสิทธิภาพของระบบล็อกดังกล่าวและไม่เชื่อว่าจะมีคนถอดล็อกของตัวเองได้ง่ายๆ เหมือนในเว็บบอร์ด แต่ไม่กี่วันต่อมาวิดีโอคลิปเผยแพร่วิธีปลดล็อกก็แพร่ไปทั่วในหมู่นักปั่นจักรยาน และจำนวนผู้เข้าอ่านเรื่องดังกล่าวผ่านเว็บบอร์ดและเว็บบล็อกก็มีจำนวนสูงสุดถึงเกือบสองล้านคนต่อวันเพียงช่วงอาทิตย์แรกนับตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้น
อีก 3 วันถัดมา บริษัทผู้ผลิตจึงอ่านเกมออกและรู้ตัวว่าควรจะทำอย่างไรเพราะกระแสกดดันเกิดไปทั่วอเมริกาจึงประกาศรับคืนและเปลี่ยนสินค้า ซึ่งประเมินมูลค่าที่มีลูกค้าแห่กันเปลี่ยนทั้งหมดนั้นน่าจะเกิน 400 ล้านบาท
ในบ้านเราเองก็เพิ่งมีเรื่องราวใกล้เคียงกันแต่เป็นเรื่องเชิงบวกของสื่อออนไลน์ ซึ่งเก็บตกมาจากเว็บบอร์ดชื่อดัง pantip.com โดยต้นตอของเรื่องมาจากกระทู้ขอความช่วยเหลือจากคนที่ถูกขโมยบัตรเดบิตไปใช้
อันที่จริงเรื่องของบัตรเดบิตนั้นหากถูกขโมยหรือมีคนอื่นแอบเอาบัตรไปใช้ได้นั้นโอกาสจะได้เงินคืนนั้นยากเต็มทนเพราะเป็นการตัดบัญชีเจ้าของบัตรโดยตรงไม่เหมือนบัตรเครดิตที่จะมีรายการเรียกเก็บระหว่างธนาคารเจ้าของบัตรกับร้านค้าอีกครั้งหนึ่ง
แต่ทันทีที่กระทู้นี้ถูกโพสต์ คำแนะนำต่างๆ ก็หลั่งไหลพรั่งพรูเข้ามา โดยเริ่มจากคำแนะนำให้ผู้เสียหายเอารายการทั้งหมดที่ถูกรูดผ่านร้านค้าต่างๆ มาให้สมาชิกดูเพื่อหาทางสืบสวนกันเองเพราะรู้ดีว่าคงพึ่งตำรวจไทยไม่ได้แน่ๆ
หลังจากวิเคราะห์รายการต่างๆ แล้ว สมาชิกคนหนึ่งจำได้ว่าหนึ่งในรายการนั้นเป็นชื่อปั๊มน้ำมันที่เขาเคยใช้บริการจึงแนะนำให้เริ่มต้นจากตรงนั้น ซึ่งไม่ผิดหวังครับเพราะปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่จะบันทึกหมายเลขทะเบียนไว้รถของลูกค้าเอาไว้ และที่พิเศษคือมีกล้องวิดีโอบันทึกภาพเอาไว้ด้วยทั้งหมด
และจากคำแนะนำของคนอื่นๆ อีกหลายๆ คน เช่นการขอความร่วมมือกับธนาคารเพื่อดูหน้าของคนที่นำบัตรไปใช้ การเช็ครายการใช้จ่ายจากห้างสรรพสินค้าต่างๆ และการขอดูภาพจากกล้องวงจรปิดภายในห้างทำให้มั่นใจว่าภาพที่เห็นทั้งหมดนั้นเป็นคนๆ เดียวกันจนสามารถสืบได้ถึงชื่อ นามสกุลและสามารถตามถึงตัวเพื่อทวงเงินทั้งหมดกลับคืนมาได้ในที่สุด
ทั้งสองตัวอย่างเป็นพลังของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ฟังดูอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกับระบบรักษาความปลอดภัยแต่ผมเชื่อว่าตัวอย่างแรกนั้นความปลอดภัยทางการเงินของบริษัทจักรยานเจ้าปัญหานั้นคงตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อีกตัวอย่างที่เกิดในบ้านเรานั้นก็แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยที่ได้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในธนาคาร ร้านค้า และสถานบริการ
ความสำเร็จหรือล้มเหลวจึงขึ้นอยู่กับมุมมองในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีว่าเราจะมองและใช้มันในมุมมองไหน เพราะโลกธุรกิจมีหลายมุม หลายมิติ ยิ่งมีไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องก็ยิ่งซับซ้อนเพิ่มไปอีกหลายเท่า

ที่มา http://www.arip.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: